Friday, June 28, 2013

พันธุ์อ้อยที่เกิดในประเทศไทย

 พันธุ์อ้อยแนะนำจากหน่วยงานต่าง ๆ
พันธุ์จากต่างประเทศ คือ
http://www.koratdailynews.com/wp-content/uploads/2011/03/phot23.jpg
    จากไต้หวัน ซึ่งขึ้นต้นด้วยอักษร เอฟ. (F) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น อาร์โอซี. (ROC-Taiwan Republic of Chian) มี พันธุ์ เอฟ.140, เอฟ.154, เอฟ.156, อาร์โอซี.1, อาร์โอซี.10
    จาก ฟิลิปปินส์ (ฟิล-Phill) มีพันธุ์ ฟิล. 58-260, ฟิล.63-17, ฟิล.66-07 (มาร์กอส-Marcos) และ ฟิล. 67-23
    จากออสเตรเลีย จากรัฐควีนส์แลนด์ (Queensland) มี คิว.83, คิว.130 และจากเอกชน ซีเอสอาร์ .(CSR-Colonial Sugar Refining Co.) คือไตรตัน (Triton)
    จากอินเดีย ซีโอ. (CO - Coimbatore) มีพันธุ์ ซีโอ.419, ซีโอ.1148, ซีโอ.62-175
    จากฮาวาย เอช. (H-Hawaii) H.483166 H.47-4911 (เอฟ.ใบลาย)

พันธุ์อ้อยที่เกิดในประเทศไทย โดย นักวิชาการชาวไทย คือ

    พันธ์จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โดยศูนย์เกษตรอ้อยภาคกลาง ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ใช้ชื่อย่อว่า เค.(K) พันธุ์ เค. ทั้งหลาย ได้แก่ เค.76-4, เค.84-69, เค.84-200, เค.86-161, เค.88-87 , เค.88-92 และ เค.92-102
    พันธุ์อู่ทอง จากสถาบันวิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ที่อำเภออู่ทอง มีพันธุ์อู่ทอง 1 และอู่ทอง 2 และอู่ทองแดง (80-1-128)
    พันธุ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (กพส.-Kps) ได้แก่ พันธุ์ ม.ก.50, พันธุ์ กพส.85-2 (85-11-2), กพส.89-20 และ กพส.89-26

ในจำนวนนี้พันธุ์ที่ปลูกมากที่สุด คือ เค.84-200 ซึ่งปลูกในภาคกลางและภาคเหนือ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และกำลังขยายไปในภาคอื่น ๆ การปลูกอ้อยพันธุ์เดียวเกินกว่าร้อยละ 30 นับว่าเสี่ยงมากเพราะถ้าอ้อยพันธุ์นี้เกิดโรคระบาดรุนแรงก็จะเสียหายมากเช่นเดียวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปลูกพันธุ์มาร์กอสมากกว่า 40% ขณะนี้อ้อยตอของพันธุ์มาร์กอสกำลังเป็นโรคมาก โดยเฉพาะอ้อยตอ หลังจากไถรื้อตอแล้วชาวไร่ควรหาอ้อยพันธุ์ใหม่มาปลูกทดแทน
ขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์อ้อย
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เขต 2 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีหน้าที่ทำการทดลองค้นคว้าหาพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี โดยการผสมพันธุ์หรือการชักนำให้กลายพันธุ์ และนำพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีจากต่างประเทศมาทดลองเปรียบเทียบคัดเลือกพันธุ์ เพื่อทดสอบหรือคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพน้ำตาลดี ต้านทานต่อโรคและแมลง ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งหรือน้ำขังและอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ก็ทำการรวบรวมพันธุ์อ้อยและศึกษาลักษณะต่างๆ ของพันธุ์อ้อยทุกชนิด รวมถึงพันธุ์พืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน

วัตถุประสงค์
เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของพันธุ์อ้อยและคัดเลือกพันธุ์ดีที่เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น
ขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์อ้อย แบ่งออกเป็น 4 ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ 1 การศึกษาเบื้องต้นและสร้างความแปรแรวนทางพันธุกรรม แบ่งย่อย ได้ดังนี้
1.1  การนำเข้า การรวบรวมและการศึกษาเบื้องต้นของลักษณะที่ต้องการของแหล่งพันธุกรรมของพันธุ์ สายพันธุ์และแหล่งรวมพันธุกรรม (Introduction, collection and observation of genetic resources of Variety, clone and gene pool.)
1.2  การสร้างความแปรแรวนทางพันธุกรรม (Creating genetic variation)

    1.2.1  การผสมพันธุ์ (Hybridization)
    - การผสมพันธุ์โดยธรรมชาติ (Natural hybridization) เช่น การผสมแบบเปิด (Open pollination) เป็นต้น
    - การผสมพันธุ์โอยมีการควบคุม (Controlled or artificial hybridization) เช่น การผสมแบบตัดลำ (Cut cane method) และแบบคลุมช่อดอก (Lantern method) และแบบผสมในที่เฉพาะ (Area cross or isolation area method) เป็นต้น
    1.2.2  การกลายพันธุ์ (Mutation)
    - การกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ (Natural mutation)
    - การกลายพันธุ์โดยการชักนำ (Induced mutation) เช่น การฉายรังสี (Irradiation) การใช้สารเคมี (Chemical treatment) และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue cultural) เป็นต้น

ขั้นที่ 2 การคัดเลือก (Selection) เป็นวิธีการคัดเลือกให้ได้พันธุ์หรือสายพันธุ์ที่ดี โดยแบ่งการคัดเลือกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

    2.1  การคัดเลือกช่วงที่ 1 เป็นการคัดเลือกสายพันธุ์จากเมล็ดอ้อย โดยถือว่าเมล็ดอ้อย 1 เมล็ด เป็น 1 สายพันธุ์ และคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเด่นเพียง 2% จากลูกอ้อยผสมทั้งหมด สายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับหมายเลขประจำพันธุ์
    2.2  การคัดเลือกช่วงที่ 2 เป็นการคัดเลือกสายพันธุ์ให้ได้ดีเด่นจริง ๆ โดยนำสายพันธุ์อ้อยที่ผ่านการคัดเลือกช่วงที่ 1 หรือการนำเข้าหรือรวบรวมพันธุ์ เป็นต้น มาปลูกแถวเดียวยาว 4 เมตร จำนวน 2-3 ซ้ำ โดยปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน และคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเด่นไว้ 5%

ขั้นที่ 3 การประเมินผล (Evaluation) หมายถึงการตรวจสอบลักษณะที่ได้ผ่านการ คัดเลือกตามช่วงดังต่อไปนี้

    3.1  การเปรียบเทียบสายพันธุ์เบื้องต้น (Preliminary trial) เป็นการประเมินผลช่วงแรก โดยการนำสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกช่วงที่ 2 มาปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน ขนาดแปลงย่อย 6.5x6 เมตร จำนวน 4 ซ้ำ และคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเด่นเพียง 50%
    3.2  การเปรียบเทียบสายพันธุ์มาตรฐาน (Standard trial) เป็นช่วงต่อจากการเปรียบเทียบสายพันธุ์เบื้องต้น นำสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกมาปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน ขนาดแปลงย่อย 9.1x8 เมตร จำนวน 4 ซ้ำ และอย่างน้อย 4 ท้องที่ (Location) คือทำการทดลอง ตาม สถานีอ้อย, มหาวิทยาลัย และโรงงานน้ำตาลต่าง ๆ เป็นต้น และคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเด่นเพียง 50%
    3.3  การเปรียบเทียบพันธุ์ในไร่กสิกร (Farm trial) เป็นช่วงต่อจากการ เปรียบเทียบสายพันธุ์มาตรฐาน เมื่อได้พันธุ์อ้อยที่ให้ผลดีแล้ว จำนวน 3-5 พันธุ์ นำมาปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐานในสภาพไร่กสิกรตามคำแนะนำของนักวิชาการและมีขนาดแปลงย่อยใหญ่ขึ้นประมาณ 13.0 x 10.0 เมตร จำนวน 4 ซ้ำ ดำเนินงานในแหล่งที่มีการปลูกอ้อย
    3.4  การทดสอบพันธุ์ในไร่กสิกร (Field test) เมื่อต้องการที่จะแสดงให้กสิกรเห็นถึงความดีเด่นของพันธุ์ ก็ควรกระทำการทดลองให้เห็นโดยการปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐานหรือพันธุ์ในท้องถิ่นนั้น ๆ ตามวิธีการที่แนะนำของนักวิชาการ

ขั้นที่ 4 การรับรองพันธุ์ (Approval) สำหรับพันธุ์อ้อยที่ผ่านวิธีการปรับปรุงพันธุ์มาแล้ว จะต้องได้รับการพิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอน ดังนี้

    4.1  การพิจารณารับรองพันธุ์อ้อย ภายในงานเกษตรอ้อยของศูนย์เกษตรอ้อย หรือสถานีอ้อยอื่น ๆ ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นเบื้องต้น
    4.2  การพิจารณารับรองพันธุ์ของคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์อ้อย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม
    4.3  ผ่านการเห็นชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม
    4.4  ผ่านการเห็นชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พันธุ์อ้อยที่ผ่านขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์อ้อยทุกขั้นตอนสมบูรณ์แล้วสามารถนำ พันธุ์อ้อยพันธุ์นั้นออกเผยแพร่สู่ชาวไร่กสิกรปลูกต่อไป

0 comments:

Post a Comment